8 มีนาคม วันสตรีสากล ความสุขที่ได้รับจากการเป็นผู้ให้ “วิก” วราภรณ์ คิดดี

8 มีนาคม วันสตรีสากล ความสุขที่ได้รับจากการเป็นผู้ให้ “วิก” วราภรณ์ คิดดี ที่ได้ย้ายถิ่นฐานมามากว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อขับเคลื่อนโครงการครอบครัวอุปการะฯ ภายใต้มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ยาวนานกว่า 10 ปี

เนื่องในวัน “สตรีสากล” มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จึงขอหยิบยกเรื่องราวของ “วิก” วราภรณ์ คิดดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ฝ่ายปฏิบัติการเพื่อสังคม ด้านบริหารกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านที่ จ.เชียงราย มามากว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อขับเคลื่อนโครงการครอบครัวอุปการะฯ ภายใต้มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี

เมื่อถามว่าอะไรทำให้คุณวิก ยอมมาทำงานในพื้นที่ที่ไม่รู้จักเลยแม้แต่น้อย และยังคงทำงานอยู่ที่นี่มายาวนานกว่า 10 ปี

คุณวิกกล่าวว่า “เรามาทำงานไกลบ้านมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ถามว่าทำไมถึงยังอยู่ตรงนี้ บอกเลยว่าหนึ่ง เพราะคนในครอบครัวตัวเองนั้นสนับสนุน และโชคดีที่เขาเข้าใจเรา รู้ว่าเรารัก และชอบงานตรงนี้ แต่ก่อนเลย เราฝันว่าอยากเป็นครูบนดอย ไปสอนหนังสือให้เขาอ่านออกเขียนได้ แต่การที่ได้ทำงานนี้มันมากกว่าที่เราคาดคิดไว้ เพราะเรากำลังสร้างอนาคตให้เด็กหลายคนที่เขากำพร้าพ่อแม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์”

โดยโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของท่านประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวอุปการะ ให้เด็กได้เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีอาชีพ หาเลี้ยงตนเองได้ และกลายเป็นคนดีในสังคมต่อไป

ทำไมเราถึงเลือกงานที่ต้องอุทิศตน ใช้แรงกาย แรงใจ เพื่อสังคม

คุณวิกกล่าวว่า “ในมุมมองส่วนตัว ไม่เคยคิดว่าเราทำงานอุทิศตนเพื่อสังคมเลย เพราะเราทำงาน มีเงินเดือน มีค่าตอบแทน เพียงแต่งานนั้น เป็นงานที่เรารัก และ เราได้เรียนมา เพราะจบด้านสังคมสงเคราะห์ จึงคิดจะใช้ความรู้ในสิ่งที่ได้เรียน ให้เป็นประโยชน์กับงานที่ทำให้ดีที่สุดเท่านั้น

เหนื่อยมั้ยที่ต้องมาเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการครอบครัวอุปการะ ฯ

ถามว่าเหนื่อยมั้ยก็เหนื่อย แต่เราก็ภูมิใจที่ได้ทำเพราะเรารักในอาชีพนี้ แม้ว่าคนข้างนอกจะไม่รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร แต่มีประโยคนึงที่เคยได้ยินแล้วก็จำคตินี้จนขึ้นใจมาโดยตลอด คือ “พระทั้งองค์ถ้าไม่มีใครมาปิดทองด้านหลัง จะออกมาเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามเช่นนี้ได้อย่างไร” หรือความหมายนึงก็คือ “การปิดทองหลังพระ” การทำความดีไม่จำเป็นต้องประกาศให้ผู้อื่นรู้ เราภาคภูมิใจและมีความสุขกับงานนี้ก็พอแล้ว

คิดว่าเราได้รับอะไรจากการทำงานในโครงการครอบครัวอุปการะฯ

คุณวิก กล่าวว่า “อย่างแรกเลย ความสุข เรารู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือให้เด็กๆ เขาได้มีครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้นคือ เราได้เรียนรู้ปัญหาของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกัน ทำให้สิ่งที่เราได้เจอขณะทำงานนั้น สามารถนำมาปรับใช้กับอีกบทบาทหนึ่งของเราได้ นั่นก็คือการเป็น “แม่” ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในครอบครัวมากยิ่งขึ้น”

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ “วิก” วราภรณ์ คิดดี ที่ได้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม ด้วยความทุ่มเท ทั้งแรงกาย แรงใจ อย่างเต็มที่เพื่อเด็กและครอบครัวอุปการะมาโดยตลอด

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Scroll to Top