มูลนิธิฯประชุมคณะทำงานติดตามความคืบหน้าโครงการปลูกป่าอมก๋อย ภายใต้แนวคิด อมก๋อยโมเดล สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท พร้อมด้วยฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล พร้อมทั้งทีมงานทรูปลูกปัญญา ร่วมประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปลูกป่าอมก๋อย ภายใต้แนวคิด “อมก๋อยโมเดล สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ”

โดย คุณจอมกิตติ ศิริกุลรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์และกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ 2.สร้างอาชีพรายได้ที่ยั่งยืน และ3.สร้างชุมชนที่ยั่งยืน โดยมี 6 โมเดล ในการพัฒนาพื้นที่อมก๋อยในมิติต่างๆ ทั้งนี้แม้ว่าจะประสบกับภาวะการระบาดของโควิด-19 แต่ทีมงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐก็ได้มีการประสานงานและมีความคืบหน้าที่จะแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ


โดยในส่วนของโมเดลที่ 1 กาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ ผู้บริหารและทีมงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐได้ลงพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เข้าใจทิศทางในการพัฒนามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้หารือกับสำนักทรัพยากรป่าไม้ และส่วนประสานโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ ในเรื่องการขออนุญาตการใช้พื้นที่ นอกจากนี้ยังคัดเลือกชนิดกล้าพันธุ์กาแฟและกลไกการตลาด ตลอดจนหารือภาคีกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ซึ่งทำให้ได้พื้นที่ตัวอย่างในการเข้าไปดำเนินการเรียบร้อย

ซึ่งพื้นที่ที่จะดำเนินการตามโมเดลที่ 1 กาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ มีทั้งหมด 5 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลบ้านนาเกียน มี 2 พื้นที่ คือ พื้นที่โครงการสถานีพัฒนาเกษตรพื้นที่สูงและพื้นที่เครือข่ายภาคประชาชน ตำบลยางเปียง มี 2 พื้นที่ คือ พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และพื้นที่โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ และตำบลม่อนจอง คือพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อนุรักษ์สภาพป่า โดยทีมงานจะมีการหารือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ในการขออนุญาตให้ถูกต้อง จัดขอสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่และจัดสรรจำนวนเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ และสั่งกล้าพันธุ์กาแฟ คาทุย (Catuai) และคาติมอร์(Catimor) ภายในปี 2564

สำหรับโมเดลที่ 2 ข้าวไร่ 1-2-3 ทีมงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐได้มีการนำเรียนกรมป่าไม้ เกษตรอำเภอและพัฒนาการอำเภอ ในการลดรอบการปลูกพืชหมุนเวียน จาก 7 ปี เหลือ 5 ปี ซึ่งมีนโยบายสอดคล้องกัน ซึ่งในพื้นที่มีการจำแนกวงรอบการจัดการการปลูกข้าวไร่เบื้องต้น โดยมีแผนลดทอนรอบการปลูก แต่เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น จะทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกลดลง แต่ยังได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม โดยทีมงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐได้ศึกษาข้อมูลสถิติการบริโภคข้าวของคนไทย เฉลี่ย 280 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี ซึ่งหากมีกระบวนการการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี 6 ขั้นตอนก็จะสามารถเพิ่มผลผลิต 300 – 500 กิโลกรัมต่อไร่

ส่วนโมเดลที่ 3 ปลูกป่าต้นน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ ต่อยอดจากโมเดลที่ 1 และ 2 ทีมงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐได้ทำความเข้าใจกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ ถ้าหากมีกระบวนการส่งมอบพื้นที่คืน หรือกระบวนการลดทอนจากพื้นที่ที่ปลูกข้าวไร่บางส่วนฟื้นคืนเป็นป่า สามารถปลูกต้นไม้ทดแทนหรือเพิ่มเติมได้ โดยได้มีการหารือกับชุมชน โดยให้ชุมชนเพาะกล้าไม้ เพื่อสร้างรายได้ สร้างความตระหนักและเกิดความหวงแหนป่า เมื่อนำกล้าไม้ไปปลูก ภายในปี 2555 – 2556 โดยมีเป้าหมายปลูก 50 ต้น ต่อ 1 ไร่

โมเดลที่ 4 เกษตรมูลค่าสูง ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากโลตัส ซึ่งจำเป็นต้องดูแล 3 เรื่อง ได้แก่ ปริมาณการรับซื้อ คุณภาพผลผลิต และความต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกรในพื้นที่อมก๋อย โดยมีแนวทางส่งตรงถึงตลาดรับซื้อ โดยมี 45 รายการ อาทิ กระหล่ำปลี ฟักทอง มะเขือเทศ พริก ที่สามารถส่งตรงเข้าสาขาได้เลย และสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้ โดยเดือนตุลาคมนี้ จะลงพื้นที่เชิงลึกเพื่อกำหนดการรับซื้อในมิติของสินค้าและปริมาณ

โมเดลที่ 5 กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐจะสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มในการรวบรวมผลผลิต องค์ความรู้และการส่งถึงตลาดปลายทาง โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐในพื้นที่ ซึ่งมีโลตัสสนับสนุนในการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจ เพื่อยกระดับ สร้างทักษะองค์ความรู้ และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมได้อย่างยั่งยืน

โมเดลที่ 6 การศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทรู โดยทีมงานทรูปลูกปัญญาเข้าไปศึกษาข้อมูลพื้นฐานในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย ใน 3 ตำบล ทำให้เจอปัญหานักเรียน โรงเรียน และครู/บุคลากร ในหลายด้าน ทำให้เล็งเห็นแนวทางการแก้ไข อาทิ จัดการทุนการศึกษาและเครื่องอุปโภคให้นักเรียน ปรับปรุงโรงเรียนและหาสื่อการสอน พัฒนาทักษะการสอนให้ครู ซึ่งทีมงานทรูปลูกปัญญาจะหารือและนำมาพัฒนาแผนปฏิบัติการต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินงานในปี 2564 ยังคงมีเงื่อนไขต่างๆ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเข้าไปในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชนได้ ในเรื่องของฤดูกาลในช่วงหน้าฝน ทำให้มีความยากลำบากในการเข้าพื้นที่ และภาษาในการสื่อสาร ในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากร้อยละ 90% ของประชากรในพื้นที่อมก๋อย เป็นชาวปกาเกอะญอ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการสื่อสารอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องสรรหาบุคลากรที่ใช้ภาษาท้องถิ่นได้ด้วย

###

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Scroll to Top