ซีพี – ซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขับเคลื่อนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกล สู่เป้าหมาย 1,000 รร.ภายในปี 2568

ซีพี จับมือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขับเคลื่อนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เข้าสู่ปีที่ 34 ส่งเสริมเด็กและเยาวชนเข้าถึงอาหารปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการให้น้องๆ นักเรียน เป้า 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ในพื้นที่ชนบทห่างไกล เป็นห้องเรียนสร้างอาชีพจากการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ แปรรูปอาหารจากผลผลิตไข่ไก่ ต่อยอดสู่การบริหารจัดการของเสียจากมูลไก่นำมาทำเป็นปุ๋ย ขยายผลสู่ชุมชนเป็นคลังเสบียงในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เครือซีพี ซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตาม “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” สานต่อดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างโภชนาการที่ดี และการเติบโตสมวัย ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา

โดยตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 905 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 180,000 คน และเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู 12,000 คน ตลอดจนชุมชน 1,900 แห่ง ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีไข่ไก่บริโภคในราคาย่อมเยาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เกิดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลผลิต นำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการ ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 25 โรงเรียน คาดว่าภายใน 2568 จะมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 1,000 โรงเรียน

ด้าน นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในข้อ 2 การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และ ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ทุกช่วงอายุ ซึ่งตลอด 34 ปีของการดำเนินโครงการดังกล่าว ซีพีเอฟให้การสนับสนุนโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงรุ่นแรก (ระยะเลี้ยงประมาณ 60 สัปดาห์) ให้กับโรงเรียน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการโรงเรือน ตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล รวมถึงให้คำแนะนำการบริหารจัดการผลผลิตและบัญชี เพื่อให้โครงการฯมีผลประกอบการที่ดี และมีเงินเข้ากองทุนโครงการฯ สำหรับการเลี้ยงเองในรุ่นถัดไป โดยการเลี้ยงไก่ตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไป โรงเรียนจะได้รับพิจารณาให้สามารถซื้อพันธุ์ไก่ไข่ และอาหารไก่ไข่ในราคาพิเศษ โดยส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมีซีพีเอฟเป็นผู้ให้การสนับสนุน

“เครือซีพี ซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนโครงการฯ ประกอบด้วย หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และ บมจ.สยามแม็คโคร มุ่งมั่นต่อยอดความสำเร็จของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ในโรงเรียนที่เปิดให้ชุมชนเข้ามาเรียนรู้อาชีพเกษตร เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การจัดการฟาร์ม และการตลาด เพื่อนำโมเดลธุรกิจเกษตรฉบับย่อไปประยุกต์ใช้ในอาชีพ” นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ยังเป็นคลังเสบียงสำหรับชุมชน โดยผลผลิตไข่ไก่ที่ได้นำมาทำเป็นอาหารกลางวัน และนำผลผลิตส่งให้นักเรียนถึงที่บ้านตามบ้านตามวิถี New Normal เพื่อให้เด็กๆได้บริโภคไข่ไก่เสริมสุขภาพให้แข็งแรงแม้อยู่ในช่วงโควิดก็ตาม ขณะเดียวกัน สามารถบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชน หรือผู้ปกครองนักเรียน เป็นคลังเสบียงอาหารที่มั่นคงของชุมชน ทำให้ประชาชนได้บริโภคไข่ไก่คุณภาพดี สด ใหม่ สะอาด และปลอดภัย ผลผลิตจากฝีมือของลูกหลาน ในราคาย่อมเยา ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารของครัวเรือน

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ยังเป็นโครงการต้นแบบของการบริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์คุ้มค่า ตั้งแต่ผลผลิตไข่ไก่ที่ถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน ผลผลิตส่วนเกินถูกจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา ขณะเดียวกัน โรงเรียนต่อยอดนำผลผลิตไข่ไก่มาแปรรูปเป็นอาหารหลากหลายประเภท อาทิ เบเกอรี่ เป็นการสร้างอาชีพทางเลือกให้กับนักเรียนนำไปใช้ได้ในอนาคต มูลไก่ซึ่งเป็นของเสียถูกนำมาทำเป็นปุ๋ย และนำกลับมาใช้กับแปลงผักในโรงเรียน นักเรียนนำความรู้การทำปุ๋ยไปใช้ที่บ้าน มีการเรียนรู้ในการนำเปลือกไข่ที่เหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเลี้ยงไก่ อาทิ นำระบบแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ที่ถูกนำมาใช้ในการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงาน สามารถให้คำแนะนำและแก้ปัญหาในการเลี้ยงไก่ได้อย่างทันท่วงทีใช้กูเกิลฟอร์ม (Google Form) ในการรวบรวมข้อมูลทางออนไลน์ ทั้งการรายงานข้อมูลผลผลิตไข่ไก่ จำนวนไข่ที่จำหน่ายให้ชุมชน ฯลฯ ซึ่งน้องๆนักเรียนต้องมีการรายงานอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ทำให้ทราบข้อมูลที่รวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิต

ทั้งนี้ โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท โทรศัพท์ 092-870-0783 หรือ 080-937-1393 หรือดาวน์โหลดเอกสารการสมัครและหลักเกณฑ์ ที่เว็บไซต์ http://www.cp-foundationforrural.org ./

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Scroll to Top