ถอดบทเรียนความสำเร็จการพัฒนาโครงการปากรอพ้นยากจนด้วยความรู้ ความรัก ความสามัคคี สร้างคนรุ่นใหม่สานต่อชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

คุณชาญวิทย์ รัตนชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาชีพปากรอ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยถึงประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงานกับชุมชนในตำบลปากรอว่า การที่จะพัฒนาชุมชนให้หลุดพ้นจากความยากจนและกลายมาเป็นแหล่งสร้างรายได้นั้น จะต้องเริ่มจากการสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วม รู้ว่าความต้องการของชุมชนคืออะไร แสดงถึงความจริงใจและมีความเป็นเพื่อนกับคนในชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเชื่อ ความศรัทธาที่ไปในทิศทางเดียวกัน

คุณชาญวิทย์ กล่าวอีกว่าสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้คือการทำงานกับชาวบ้านในชุมชนมากมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคน ซึ่งการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนเน้นเป็น 2 ระดับ คือ

• ระดับบุคคล เป็นการไปช่วยแก้ปัญหาหรือไปช่วยสร้างความลงตัวให้กับครอบครัวเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความเป็นหนึ่งเดียว

• ระดับชุมชน เป็นการกำหนดเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ร่วมกันและสร้างการมีส่วนร่วม ดึงศักยภาพของแต่ละคนมาช่วยกันพัฒนา

นอกจากการปรับเปลี่ยนความคิดแล้วก็ต้องอาศัยงบประมาณที่ทันท่วงทีต่อสภาพของปัญหาและความต้องการของชุมชนอีกด้วย

“ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้มากมายหลายอย่าง การพัฒนาชุมชนไม่ใช่เรื่องง่ายแต่สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนความคิด การสร้างความรู้ ความรัก ความสามัคคี สร้างต้นแบบและลงมือปฏิบัติจริง” คุณชาญวิทย์ รัตนชาติ กล่าว

คุณชาญวิทย์ เล่าว่าตอนเริ่มต้นโครงการ ต้องศึกษาสำรวจพื้นที่ชุมชนปากรอมีความเป็นอยู่อย่างไร มีความต้องการหรือปัญหาตรงไหน จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาวางแผนงานแล้วแก้ไข ซึ่งก็ได้นำพาชุมชนบ้านปากรอไปได้อย่างก้าวไกลและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น

ด้านเศรษฐกิจ
• มีการพัฒนาอาชีพเดิม คือ
-การเปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน เพิ่มสายพันธุ์ใหม่ๆมากขึ้น เปลี่ยนระบบนาเคมีเป็นนาอินทรีย์บางส่วน
-มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอม
-การพัฒนาไก่พื้นเมือง แพะและโคพื้นเมืองสายพันธุ์ดี

• การเพิ่มเติมอาชีพใหม่เช่น
-การเลี้ยงปลาทับทิม ปลานิลในกระชัง สามารถยกระดับเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสงขลา
-มีการเลี้ยงกุ้งขาวในระบบโรงเรือนปิด

ด้านสังคม
• ได้ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 3 หมู่บ้าน
-ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร
-ตำบลคู่เต่า อำเภอหาดใหญ่
-ตำบลแม่ทอม อำเภอหาดใหญ่

ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้าง
• การจัดงานมหกรรมปากรอเข้มแข็งต่อเนื่อง 15 ครั้ง เป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งขันเรือที่ขาดหายไปกลับคืนมา
• การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทำให้เกิดการออมและวินัยการเงิน
• การส่งเสริมการเกษตรต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นรูปธรรมหรือเป็นแบบอย่างของการพัฒนา
• การจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ มีระบบสวัสดิการฌาปนกิจ
• การสนับสนุนกิจกรรมทุนการศึกษาและกิจกรรมของโรงเรียนในเขตพื้นที่ตำบลปากรอ

ด้านสิ่งแวดล้อม
• ส่งเสริมการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
• ส่งเสริมการปลูกธนาคารต้นไม้ เช่น ไผ่ มะฮอกกานี ต้นพะยูง ต้นพะยอม การตั้งกลุ่มลดรายจ่ายครัวเรือน
• ส่งเสริมให้สตรีมีการผลิตและใช้น้ำยาอเนกประสงค์ เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน
• การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยการสร้างซั้งหรือบ้านให้ปลาอยู่อาศัย ทำให้สัตว์น้ำมีปริมาณมากขึ้น ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ปัญหาความยากจนเป็นพื้นฐานของทุกคนที่ต้องแก้ไข เมื่อมีคนยื่นมือมาช่วยเหลือ เขาก็จะรู้สึกดีใจ ประทับใจ สำหรับผมสิ่งนี้คือเป้าหมายของชีวิต เราควรพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน หลังจากนั้นควรช่วยเหลือผู้อื่นเต็มกำลังความสามารถ เราจะมีความสุข ถ้าได้ช่วยให้คนอื่นหลุดพ้นจากความยากจน” คุณชาญวิทย์ รัตนชาติกล่าว

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป คนในชุมชนเริ่มอายุมากขึ้น หมดเรี่ยวแรงที่จะทำต่อ คุณชาญวิทย์ ก็ได้เผยว่ามีการวางแผนการขับเคลื่อนโครงการให้เข้มแข็งยั่งยืน โดยการสร้างแกนนำและแนวร่วมในกลุ่มเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อสานต่อการพัฒนา และประสานทุกภาคีเครือข่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

อีกทั้งยังเน้นการพัฒนาตามแนวทางของชีววิถี ซึ่งคือการผลิตที่ปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นการใช้ไส้เดือน การใช้อินทรีย์ชีวภาพและการใช้จุลินทรีย์ เน้นการพัฒนาให้ตรงจุดแข็งและโอกาสของชุมชน เช่น โหนด นา เล เพราะเป็นวิถีชีวิตหลักของชุมชน

ที่สำคัญคือการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อให้ชุมชนตระหนักในคุณค่าของดีที่ชุมชนมีอยู่ และสำนึกรักแผ่นดินเกิดที่จะต้องดูแลสืบสานให้ลูกหลานต่อไป

คุณชาญวิทย์ เผยอีกว่าชุมชนบ้านปากรอ ตำบลสิงหนคร จังหวัดสงขลา จากพื้นที่ชนบทยากจนกลายมาเป็นแหล่งสร้างรายได้หาเลี้ยงชีพให้กับหลายๆครอบครัว โดยโครงการพัฒนาอาชีพปากรอจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเจตนารมณ์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่มีความต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนของชุมชน ตนเองรู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณท่านเป็นอย่างมากที่ให้โอกาสเข้ามาช่วยเหลือสังคมและมอบบทเรียนต่างๆในการใช้ชีวิต ได้ตอบแทนบุญคุณอย่างที่ท่านมีปณิธานว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

อีกทั้งมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยหลัก 3 ประโยชน์ ได้แก่
• ประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเครือฯ และมูลนิธิเครือเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทร่วมขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
• ประโยชน์ต่อประชาชน จากโครงการพัฒนาอาชีพ สังคมและสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ
• ประโยชน์ต่อองค์กร เครือฯ เป็นองค์กรที่เป็นแบบอย่างที่ดี มีหลักธรรมาภิบาลและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจ ความรักและความพยายามของ คุณชาญวิทย์ รัตนชาติ จนทำให้ชุมชนบ้านปากรอก้าวข้ามผ่านความยากจนนี้ไปได้และกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบที่ส่งคืนรอยยิ้มให้กับทุกคน

“การพัฒนาชุมชนเป็นงานใหญ่เท่ากับชีวิตเราได้ทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่” คุณชาญวิทย์ รัตนชาติ กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียงโดย : ลลิษา สองรักษ์ นศ. PIM คณะนิเทศศาสตร์ สาขา การสื่อสารองค์กรและแบรนด์
วีดีโอโดย : ศักรินทร์ นศ. PIM คณะนิเทศศาสตร์ สาขา การสื่อสารองค์กรและแบรนด์

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

Scroll to Top