เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนองค์ความรู้การบริหารจัดการแปลงกาแฟอราบิก้า โดยมีคุณพัฒฐพงศ์ วุฒิสาร ผู้จัดการแผนก ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐสำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมทั้ง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านมูเซอ ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อาทิ ปัจจัยพื้นฐานการปลูกกาแฟอราบิก้า ขั้นตอนการปลูก วิธีการบำรุงรักษา การป้องกันโรคและแมลง การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการแปรรูปผลผลิตกาแฟ เพื่อสนับสนุนการปลูกกาแฟที่ได้ผลผลิตมีคุณภาพ และส่งเสริมให้เกษตรกรนำผลกาแฟเชอรี่มาแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟกะลา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตและสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้มากขึ้น
คุณชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ฝ่ายปฏิบัติการเพื่อสังคม ด้านบริหารกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านมูเซอ ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนที่มีปลูกกาแฟมากกว่า 50 ปี โดยเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตกาแฟเชอรี่ โดยไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป ทำให้มีรายได้น้อย จึงหันไปปลูกพืชผัก และพืชเชิงเดียวอื่น ๆ แทน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมจากการใช้สารเคมีจำนวนมาก มูลนิธิฯ จึงเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกกาแฟอราบิก้า โดยจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกาแฟสร้างป่าบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง ต.ม่องจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่”
ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 68 ราย โดยร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเครือซีพี ภาครัฐ และชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร พร้อมการลงมือปฏิบัติ อาทิ ปัจจัยพื้นฐานและขั้นตอนการปลูกกาแฟอราบิก้า วิธีการบำรุงรักษาต้นกาแฟ และการป้องกันกำจัดโรคและแมลง การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการแปรรูปกาแฟเป็นเมล็ดกะลากาแฟ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ – ปลายน้ำ ให้สามารถผลผลิตโดยการแปรรูปที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่เศรษฐกิจชุมชน หรือ Social Enterprise ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้เกษตรกรทำการเกษตรสีเขียว คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้พื้นที่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทางด้าน คุณรัตนา จะเตาะ ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟสร้างป่าบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง ต.ม่องจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เปิดใจว่า จากที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เข้ามาสนับสนุนให้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกาแฟสร้างป่าบ้านมูเซอ ดอยม่อยจอง และเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้การบริหารจัดการแปลงกาแฟ ตั้งแต่วิธีการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกวิธี การคัดแยกเกรดคุณภาพกะลา การแปรรูป ตลอดจนการจำหน่าย
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกร หลังจากมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ปัจจุบันเกษตรกรในชุมชนให้ความสนใจมาร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าจะมีสมาชิกกว่า 100 คน ภายในปี 2566 นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปกาแฟ สร้างแบรนด์พัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยจะเริ่มออกสู่ตลาดเพื่อรับนักท่องเที่ยวในปีนี้ อาทิ ศูนย์บริการการท่องเที่ยวดอยม่อนจอง บริหารโดยชุมชน เพื่อชุมชนบ้านมูเซอปากทาง และจุดชมวิวดอยมูเซอ ถือเป็นการทำการตลาดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นครั้งแรก ขอขอบคุณมูลนิธิฯ และทีมงาน ที่เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูงให้เกษตรกรที่บ้านมูเซอ